เตรียมสอบ “เลข” ยังไงให้ได้ผล สไตล์พี่ณัฐ อุดมพาณิชย์
ตอนนี้ก็เข้าสู่สนาม TCAS67 อย่างเป็นทางการแล้ว น้องๆ ม.6 ที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีการเตรียมตัวกันบ้างแล้วหรือยัง? พี่ณัฐเชื่อว่าหลายคนคงมีเป้าหมายและวางแผนสอบจะเข้ามหาวิทยาลัยในฝันแล้ว แต่ก็มีน้องหลายคนที่ทักเข้ามาคุยกับพี่ว่าไม่รู้จะเตรียมตัววิชาเลขยังไงดี ทั้งเป็นวิชาที่ยากและไม่ถนัด แถมยังหนีไม่ได้เพราะคณะในฝันใช้คะแนนเลขเยอะซะด้วย ดังนั้นวันนี้พี่ณัฐเลยจะเอาวิธีเตรียมสอบ “เลข” ยังไงให้ได้ผล ตามสไตล์ของพี่มาฝากกัน
TO DO LIST 10 วิธีเตรียมสอบ “เลข” ให้ได้ผล
1. ต้องทำความเข้าใจ Concept
ของแต่ละบทก่อน ทั้งสูตร และทฤษฎี เพราะหากเราเข้าใจได้อย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถนำไปใช้หาสิ่งที่โจทย์ต้องการได้
2. ควรเริ่มฝึกทำข้อสอบพื้นฐานก่อน
อย่างเช่นใน SYNTAX+ และ VACCINE+ เพื่อฝึกใช้สูตรให้คล่องและตรวจสอบความเข้าใจก่อนที่จะก้าวไปเจอโจทย์ยากต่อ
3. อย่ารีบข้ามไปฝึกทำข้อสอบเก่าก่อน
เพราะว่าการไปทำข้อสอบเก่าเลยโดยที่พื้นฐานเราไม่แน่นพออาจจะทำให้เราเสียศูนย์ได้และขาดความมั่นใจได้ ที่สำคัญเราควรเก็บข้อสอบไว้ประเมินผลตัวเองตอนใกล้สอบด้วย
4. หาจุดบอดของตัวเองให้เจอ
ในระหว่างการทำโจทย์ ต้องพยายามสังเกตเพื่อหาจุดบอดของตัวเองให้เจอ แล้วรีบแก้ไขและหาแบบฝึกหัดมาพัฒนาตัวเราให้พร้อมที่สุด เช่น
• ชอบคิดเลขผิด
• แยกตัวประกอบมั่ว
• ย้ายข้างสมการผิด
• จำสูตรได้แต่เอาไปใช้ไม่เป็น
5. ฝึกจับเวลาทำข้อสอบ
เมื่อคิดว่าทักษะของตัวเองเริ่มคล่องแล้ว (คล่องจริงๆ แบบไม่หลอกตัวเองนะครับ) ก็ให้เริ่มฝึกจับเวลาทำข้อสอบเก่าย้อนหลัง ถ้าในช่วงแรกทำไม่ได้ หรือนึกอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ถูก ก็ไม่ต้องตกใจ น้องแค่ต้องพยายามเอาความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้และทำให้ได้มากที่สุด
6. ระวังเหตุการณ์ที่ชื่อเดจาวู
ตอนทำข้อสอบเก่า เพราะข้อสอบเหล่านี้อาจจะเป็นข้อที่เราเคยผ่านตามาบ้าง ทั้งตอนเรียนในห้องเรียนหรือตอนเรียนพิเศษ นั้นอาจจะทำให้เราทำได้จากการจำได้ แล้วทำได้ด้วยความเคยชินโดยไม่ได้คิด แต่ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่เข้าใจเลยด้วยซ้ำว่าทำไมข้อนั้นถึงเป็นแบบนี้ และอาจจะโดนหลอกด้วยโจทย์ที่คล้ายกันได้ง่าย
7. วางแผนและพัฒนาเสมอ
จากการฝึกจับเวลาทำข้อสอบเก่า จะเห็นว่าถ้าเราไม่เคยมีแผนการทำข้อสอบแล้วไปทำข้อสอบในเวลาจำกัด น้องอาจจะเกิดอาการล่กหรืออาการสมองโล่ง ดังนั้นสิ่งที่ควรทำตอนอยู่ในห้องสอบก็คือน้องต้องวางแผนการทำข้อสอบว่า เมื่อน้องเปิดข้อสอบแล้วจะเลือกทำข้อไหนก่อน และเรื่องไหนบทไหนที่ไม่ถนัดอาจจะข้ามไปก่อน เพื่อจะได้ทำข้อสอบได้ครบทุกข้อ
8. ห้ามขี้โกงเปิดสูตร
การทำแบบนี้แสดงว่าเรายังไม่เข้าใจเนื้อหาดีพอ ทำให้เราเคยตัวและพอได้ไปทำข้อสอบจริงๆ เราก็จะทำไม่ได้เพราะเคยแต่เปิดสูตรดู แต่จำสูตรไม่ได้
9. อย่าเข้าข้างตัวเอง
ห้ามหาเหตุผลให้คะแนนตัวเอง ตอนตรวจข้อสอบเก่าที่เราทำ ถ้าข้อไหนคำตอบผิดแต่วิธีทำถูก ก็ต้องถือว่าผิด เพราะตอนที่เราสอบจริงเขาจะดูแค่คำตอบสุดท้าย ไม่มีใครมานั่งดูวิธีทำจากกระดาษทดของเรา
10. อย่าหักโหมมากจนเกินไป
ไม่จำเป็นต้องทำข้อสอบเก่าได้เยอะหรือทำโจทย์ในปริมาณมหาศาล แต่ให้เราทบทวนตัวเองเมื่อทำข้อสอบเสร็จในแต่ละชุด ลองดูว่าข้อไหนมีปัญหาอย่างไร เช่นคิดเลขผิด จำสูตรตรีโกณฯ ไม่ได้ แล้วก็กลับไปหาวิธีแก้ไขและฝึกฝนให้ตัวเองพร้อมมากขึ้นก่อนที่จะทำข้อสอบในชุดต่อไป
นี่คือวิธีการเตรียมสอบเลขในสไตล์พี่ณัฐ ที่แนะนำน้องๆ มาตลอด 15 ปี ต้องบอกเลยว่าทุกวิธีที่พี่ณัฐได้เอามาฝากน้องๆ พี่ณัฐเป็นคนทดลองใช้ด้วยตัวเองมาแล้ว และได้ผลดีสำหรับคนที่ต้องการเตรียมตัวสอบเลข สำหรับใครที่ยังไม่ได้เตรียมตัวหรือไม่รู้ว่าจะทำยังไงก็ลองทำตามวิธีของพี่ณัฐได้เลยครับ
ส่วนใครที่ไม่เก่งเลขและอยากได้ตัวช่วยเสริมเพื่อเตรียมตัวสอบเลขตั้งแต่ต้น พี่ณัฐ แนะนำเป็น คอร์สเก็บเนื้อหาคณิต A-Level ของพี่ณัฐเอง ที่ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยทบทวนเนื้อหาคณิต ม. ปลาย ตั้งแต่ ม.4 ม.5 ม.6 ซึ่งเหมาะกับน้องๆ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นน้องที่มีพื้นฐานแล้วแต่ยังไม่แน่น ไม่มีพื้นฐาน หรือน้องๆ ที่อยากฟิตตัวเองให้เต็มที่ เพื่อทำคะแนนสอบ A-Level ได้สูงสุดคอร์สนี้ก็ตอบโจทย์เช่นกัน